ข้อปฏิบัติตัวง่ายๆ เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดโรคปอดอักเสบ ปอดอักเสบจากการติดเชื้อ หรือ pneumonia (ปอดบวม) เป็นชนิดของปอดอักเสบที่พบได้บ่อยที่สุด โดยเชื้อโรคที่เข้าสู่ปอดและทำให้เกิดการอักเสบของถุงลมปอดและเนื้อเยื่อโดยรอบ ได้แก่ เชื้อไวรัส เชื้อแบคทีเรีย และเชื้อรา ซึ่งเชื้อที่พบจะแตกต่างกันในแต่ละกลุ่มอายุ และสภาพแวดล้อมที่เกิดโรค เช่น ได้รับเชื้อจากที่ชุมชนทั่วไป หรือจากภายในโรงพยาบาล

ทั้งนี้ เชื้อแบคทีเรียที่พบมักได้แก่ เชื้อ Streptococcus pneumoniae, เชื้อ Haemophilus influenzae type b, เชื้อ Chlamydia pneumoniae, เชื้อ Legionella spp. และเชื้อ Mycoplasma pneumoniae ส่วนเชื้อไวรัส ได้แก่ เชื้อ Respiratory Syncytial Virus (RSV), เชื้อ Influenza หรือเชื้อไข้หวัดใหญ่ และเชื้อราจากมูลนกหรือซากพืชซากสัตว์

ปอดอักเสบที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ เช่น เกิดจากการหายใจเอาสารที่ก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อระบบทางเดินหายใจ เช่น ฝุ่น ควัน สารเคมีที่ระเหยได้ นอกจากนี้ การใช้ยาปฏิชีวนะ ยาเคมีบำบัด และยาสำหรับควบคุมการเต้นของหัวใจบางชนิดก็อาจทำให้เกิดภาวะปอดอักเสบได้

ใครบ้างมีความเสี่ยงในการติดโรคปอดบวมจากเชื้อนิวโมคอคคัส
– ผู้สูงอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป
– เด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี
– ผู้ที่มีโรคประจำตัว เรื้อรัง เช่น โรคหัวใจ, โรคปอด, โรคไต, โรคเบาหวาน, โรคตับ
– ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่นผู้ที่ ติดเชื้อไวรัส HIV, โรคมะเร็ง
– ผู้ที่สูบบุหรี่เป็นประจำ
-ผู้ที่ถูกตัดม้าม

การป้องกันโรคปอดบวม
1. ล้างมือให้สะอาด หรือใช้เจลแอลกอฮอล์ล้างมือ ที่มีความเข้มข้นไม่ต่ำกว่า 60 %
2. สวมหน้ากากอนามัย
3. หลีกเลี่ยงชุมชนแออัด
4. ฉีดวัคซีนป้องกัน เสริมสร้างภูมิคุ้มกันโรคปอดบวม

วัคซีนป้องกันโรคปอดบวมจากเชื้อนิวโมคอคคัส
ในปัจจุบันมี 2 ชนิด เราฉีดวัคซีนเพื่อลดความรุนแรง และภาวะแทรกซ้อนที่อาจจะเกิดขึ้น เช่นการติดเชื้อในกระแสเลือด
1.วัคซีนนิวโมคอคคัสแบบคอนจูเกต (PCV13) ซึ่งครอบคลุมเชื้อนิวโมคอคคัส 13 สายพันธุ์
2. วัคซีนนิวโมคอคคัสแบบโพลีแซคคาไรด์ (PPSV23) ซึ่งครอบคลุมเชื้อนิวโมคอคคัส 23 สายพันธุ์
การเสริมภูมิคุ้มกันเพื่อป้องกันการติดเชื้อจึงเป็นสิ่งที่ควรให้ความสำคัญ เสมือนการสร้างเกราะป้องกันให้กับร่างกาย แนะนำให้ปรึกษาแพทย์เพื่อรับการฉีดวัคซีนป้องกันในบุคคลที่มีความเสี่ยงทุกคน