Social listening : เทคนิคทำคอนเทนต์เพื่อเพิ่มยอดขายบน Instagram นักการตลาดอาจคิดว่าการทำการตลาดออนไลน์บน Instagram ต้องเกี่ยวกับการทำภาพทั้งหมด แต่เชื่อหรือไม่ว่ารูปภาพหรือวิดีโอเพียงอย่างเดียวอาจไม่พอให้คนตัดสินใจซื้อสินค้าบริการของแบรนด์ได้ ดังนั้นแบรนด์จึงต้องพัฒนาการทำคอนเทนต์ทั้งหมดรวมถึงการทำแคปชันที่ดีพอจนสร้างยอดขายได้ด้วยเช่นกัน
ในบทความนี้ ทางทีมงานจะขอยกตัวอย่างวิธีที่การทำคอนเทนต์บน Instagram จะสามารถทำงานร่วมกับเว็บไซต์ได้เป็นอย่างดี และทำให้ผู้บริโภคเกิดความไว้วางใจในตัวแบรนด์จนเกิดเป็นยอดขายในท้ายที่สุด เพื่ออเป็นไอเดียให้นักการตลาดหรือเจ้าของกิจการทำคอนเทนต์ และการตลาดออนไลน์บน Instagram จนเกิดยอดขายมากยิ่งขึ้น
5 เทคนิคทำคอนเทนต์เพื่อเพิ่มยอดขายบน Instagram
หลังจากที่แบรนด์ตั้งค่าบัญชีให้พร้อมสำหรับการขายสินค้าหรือบริการเรียบร้อยแล้ว ทีนี้ก็มาเจาะลึกวิธีการทำคอนเทนต์ที่ช่วยเพิ่มยอดขายบน Instagram กันต่อได้เลย
1. แคปชันบน Instagram ต้องน่าดึงดูด
เมื่อแบรนด์ทำรูปภาพ และวิดีโอเรียบร้อยแล้ว สิ่งสำคัญต่อไปคือการใช้คำพูดที่จะสื่อสารไปยังกลุ่มเป้าหมาย แต่แบรนด์ต้องทำความเข้าใจก่อนว่าผู้ใช้งาน Instagram จะใช้เพื่อความบันเทิง หรือติดต่อกับเพื่อนๆ คนบนโลกออนไลน์ไม่ได้อยากถูกขายของให้ตลอดเวลา และบางคนก็ไม่ชอบที่จะเห็นโฆษณาด้วย
ดังนั้น การเขียนคำบรรยายของโพสต์ต้องน่าดึงดูดใจมากพอ ที่สำคัญคือเขียนโดยที่ลูกค้าไม่รู้สึกว่าแบรนด์ยัดเยียดจะขายของอย่างเดียว แต่เป็นการเขียนที่ทำให้ลูกค้ารับรู้ได้ถึงคุณค่า ประโยชน์ ความใส่ใจ และความน่าเชื่อถือที่จะได้รับกลับมา จะทำให้ลูกค้าอยากอุดหนุนแบรนด์มากกว่า
ทริคสำหรับการเขียน คือ การเข้าใจกลุ่มเป้าหมายว่าคนเหล่านั้นชอบอะไร ไม่ชอบอะไร มีทัศนคติหรือการดำเนินชีวิตแบบไหน แบรนด์อาจจะเริ่มพัฒนา customer persona ขึ้นมาก่อนจากการหาข้อมูล Insights ในบัญชี Instagram หรือสำรวจจากคู่แข่งก็ได้
เมื่อแบรนด์เข้าใจกลุ่มเป้าหมายแล้วก็ต้องสื่อสารด้วยภาษาเดียวกัน หมายถึง สื่อสารด้วยความเข้าใจกันและกัน สื่อสารให้ตรงกับความต้องการที่แท้จริงของกลุ่มเป้าหมาย ทีนี้การได้ใจลูกค้าก็ไม่ใช่เรื่องที่ยากเกินไปแล้วค่ะ
2. แคปชันบน Instagram ต้องกระตุ้นให้เกิดการมีส่วนร่วม
อัลกอริทึมของ Instagram จะแสดงบัญชีที่แชร์เนื้อหาที่น่าสนใจจนเกิดการมีส่วนร่วมขึ้นให้ผู้ติดตามเห็นมากขึ้น และบางครั้งก็แชร์เป็นโพสต์ที่แนะนำบนหน้าฟีด ซึ่งนั่นหมายความว่าเนื้อหาเกิดการมีส่วนร่วมของคนจะทำให้แบรนด์ได้ยอดเข้าถึงแบบ organic และยังฟรีมากขึ้น
ดังนั้นการเขียนแคปชันจะต้องทำให้คนอยากเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น เช่น กดหัวใจ, คอมเมนต์, แชร์หรือเซฟโพสต์เก็บไว้ ซึ่งนักเขียนจะต้องลองวัดผลคอนเทนต์ดูว่าอันไหนที่ทำแล้วเกิดผลตอบรับดี อันไหนมีผลตอบรับไม่ไดี จะได้พัฒนาการทำคอนเทนต์ และหลีกเลี่ยงข้อผิดพลาดเดิมที่เกิดขึ้น
3. ทำให้เกิดเนื้อหาที่มาจากลูกค้า (user-generated content)
คอนเทนต์ที่ทรงพลังคือคอนเทนต์มาจากลูกค้าเอง เพราะคนทั่วไปจะเชื่อคำบอกเล่าของคนธรรมดามากกว่าคำพูดจากแบรนด์หรืออินฟลูเอนเซอร์ที่ถูกจ้าง
ตัวอย่าง การทำคอนเทนต์ที่กระตุ้นให้เกิด user-generated content เช่น การกระตุ้นให้ลูกค้าออกมาพูดแบ่งปันข้อมูลเกี่ยวกับแบรนด์ ไม่ว่าจะเป็นการรีวิวสินค้า ความประทับใจต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น หรือจะเป็นการสร้างการมีส่วนร่วมโดยจัดกิจกรรม และให้รางวัลกับลูกค้าบนโซเชียลมีเดีย ที่อาจจะให้ลูกค้าช่วยติดแฮชแท็กเกี่ยวกับแบรนด์ลงในโพสต์ไปด้วย
4. รายละเอียดสินค้าต้องครบ และน่าสนใจ
แบรนด์ไม่ควรพลาดที่จะใส่ข้อมูลพื้นฐานให้ครบ และละเอียด เช่น ขนาด, สี, ราคา, ค่าส่ง, ช่องทางจำหน่าย และช่องทางติดต่อ แต่อย่าใส่ให้ยืดยาวจนเป็นรายงาน ไม่งั้นลูกค้าคงไม่อยากอ่านแน่นอน
แต่สิ่งที่ขาดไม่ได้คือการเล่าเรื่องราวของสินค้าว่าทำไมลูกค้าถึงต้องซื้อของแบรนด์คุณ ซึ่งเรื่องราวก็มาจากคุณค่าที่ลูกค้าจะได้รับ เช่น ถ้าสินค้าของแบรนด์คือขวดน้ำ แบรนด์อาจจะเล่าเรื่องราวที่ลูกค้าได้เป็นส่วนหนึ่งของการช่วยโลกจากการใช้ขวดน้ำพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง หรือเล่าเรื่องราวที่การพกขวดน้ำทำให้ลูกค้าได้ใช้กระเป๋าหนังใบโปรดแบบหมดกังวลจากน้ำที่อาจจะรั่วได้
5. รักษาคุณภาพ และทำอย่างความสม่ำเสมอ
การทำคอนเทนต์ที่มีคุณภาพไม่ใช่เรื่องง่าย แบรนด์ต้องผลิตคอนเทนต์ลงใน Instagram อย่างสม่ำเสมอเพื่อรักษาฐานลูกค้าเอาไว้ และต้องคอยศึกษาแนวทางการทำคอนเทนต์ที่ประสบความสำเร็จจากสถิติหลังบ้านของบัญชี Instagram และหาไอเดียทำคอนเทนต์จากคู่แข่งอยู่เสมอ